สหโมเสคอุตสาหกรรม
สหโมเสคมุ่งจับลูกค้าระดับสูง ฉีกแนวกระเบื้องปูผนัง 8” x 8”
“สหโมเสคอุตสาหกรรม” หรือ UMI and Duragres รวมถึง กระเบื้องอาร์เต้ ด้วย ซึ่งทั้งสามยี่ห้อนี้ ทางเดอะตรีทัช เป็นตัวแทนจำหน่ายกระเบื้องอยู่
นี่เป็นข่าวในอดีตของ UMI สมัยยังทำกระเบื้องยี่ห้อ ลีลา ออกมาจำหน่ายข่าวมีดังนี้
กระเบื้อง UMI ได้ฉีกแนวตลาดออกกระเบื้องปูผนังขนาด 8” x 8” เป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ “ลีลา” ตอบสนองลูกค้าระดับสูง ขณะเดียวกัน 3 บริษัทส่งออกกระเบื้องตีปีก สหรัฐฯ งดตัดจีเอสพี. แต่หันไปกำหนดเพดานนำเข้าแทน ซึ่งอนาคตอันใกล้จะยังไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด
.jpg)
ธนู เปลวเทียนยิ่งทวี ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม (ยู.เอ็ม.ไอ.) ผู้ผลิตกระเบื้องปูพื้น ดูราเกรส เปิดเผยว่าขณะนี้บริษัทฯ เตรียมจะออกสินค้ากระเบื้องปูผนังใหม่ ภายใต้ชื่อ “ลีลา” ในขนาด 8” x 8” ด้วยเทคโนโลยีการเผาเพียงครั้งเดียว โดยมีบริษัทโคเวอร์ จากอิตาลี เป็นผู้ถ่ายทอดเทคนิคให้
“สาเหตุของการผลิตกระเบื้องปูผนังในขนาด 8” x 8” เป็นรายแรกของไทย เนื่องจากปัจจุบันมีกระเบื้องที่ใช้ปูผนังโดยตรงในขนาด 4” x 4” ซึ่งมีความจำกัดด้านสีสัน และลวดลาย ทำให้ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่ก็มีผู้ใช้กระเบื้องปูพื้นนำมาใช้ปูผนัง ซึ่งปรากฏว่าประสบปัญหาความจำกัดด้านขอบกระเบื้อง ซึ่งไม่มีความเรียบร้อยพอ ทำให้ต้องมีร่องระหว่างขอบต่อกระเบื้อง ไม่สวยงามเท่าที่ควรดังนั้นการออกกระเบื้องปูผนังลีลา จึงเป็นการตัดข้อบกพร่องที่มีอยู่ให้หมดไป” ธนูย้ำ
ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเผยต่อไปว่า บริษัทสหโมเสค สามารถผลิตลีลา ได้วันละ 4 พันตารางเมตร/วัน ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าเมื่อผลิตออกมาแล้วจะสามารถสนองตอบต่อตลาดระดับสูง ซึ่งมีความต้องการกระเบื้องปูผนัง 4” x 4” วันละ 1 หมื่นตารางเมตร สำหรับราคาบริษัทฯ ได้ตั้งราคาจำหน่ายสูงกว่ากระเบื้อง 4” x 4” ในตลาด ซึ่งมีราคาขายประมาณ 100 - 140 บาท/ตารางเมตร ประมาณ 30% และคาดว่ากลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะสามารถนำสินค้าตัวนี้เข้าสู่ตลาดได้
กรณีการที่สหรัฐอเมริกาขู่จะตัดสิทธิพิเศษพิกัดภาษีศุลกากรนำเข้ากระเบื้องโมเสคจากไทยนั้น ธนูเผยว่า ล่าสุดทางการสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ให้ประเทศไทยส่งกระเบื้องโมเสคไปขายสหรัฐฯ ได้ภายใต้สิทธิพิเศษทางพิกัดภาษีศุลกากร (จีเอสพี.) โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า 20% แต่จะต้องนำเข้าไม่เกิน 8.45 ล้านเหรียญ หรือ 229.5 ล้านบาท ในปี 2530 หากเกินจากนี้ ในปีถัดไปจะถูกตัดสิทธิพิเศษฯ ทันที
"การออกประกาศของสหรัฐฯ เช่นนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบต่อผู้ผลิตของไทยเท่าใดนัก เนื่องจากในปัจจุบันสหรัฐฯ มีการนำเข้ากระเบื้องโมเสคจากไทยเพียง 75 ล้านบาทในปี 2529 ที่ผ่านมา และผู้ผลิตที่ส่งเข้าตลาดสหรัฐฯ มี 3 รายเท่านั้นคือ สหโมเสค ซึ่งส่งออกเต็มกำลังการผลิตแล้ว คงจะไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกได้ในเร็ววัน ส่วนบริษัทเซรามิคอุตสาหกรรม ยังมีกำลังการผลิตน้อยอยู่ ส่วนโรยัล นครโมเสค เพิ่งจะเริ่มต้นการส่งออกเท่านั้นซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อย จึงหมายความว่า ตลาดสหรัฐฯ ยังเป็นที่น่าสนใจอยู่ ประกอบกับไต้หวันและเกาหลี ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกจีเอสพี. แล้ว จึงนับว่าเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่นำกระเบื้องโมเสคเข้าตลาดสหรัฐฯ"